กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง ส้มปู

Hibiscus sabdaiffa L.

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • Jamaica sorrel หรือ Roselle

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเจี๊ยบแดงจะเป็นไม้พุ่ม ความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านของต้นมีสีม่วงแดง มีขนตามกิ่งและก้านรำไร ใบกระเจี๊ยบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงไข่หรือรูปนิ้วมือ ขนาดใบกว้างกระมาณ 7-12 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ขอบใบจัก ส่วนดอกกระเจี๊ยบมีสีเหลือง กลางดอกมีสีม่วงอมแดง ขนาดความดอกกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกกระเจี๊ยบจะออกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ในดอกกระเจี๊ยบมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเผ็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้

การนำไปใช้ประโยนชน์

1. ลดไข้

ในกระเจี๊ยบมีสารพฤกษเคมีที่สำคัญ คือ สารต้านอนุมูลอิสระทั้งสารในกลุ่มฟีนอลิก สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารในกลุ่มแอนโธไซยานิน ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการแสดงให้เห็นว่า สารพฤกษเคมีดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดไข้ และต้านการอักเสบ นอกจากนี้วิตามินซีในกระเจี๊ยบยังมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

2. แก้ไอ ละลายเสมหะ

ในตำรับยาแผนโบราณพบว่าใบกระเจี๊ยบมีฤทธิ์แก้ไอ ละลายเสมหะ ขับเมือกมันในลำคอให้ไหลลงสู่ทวารหนัก ทั้งยังช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ดได้อีกต่างหาก

3. ขับปัสสาวะ

จากการศึกษาให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสกัดกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง พบว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดี โดยในการทดลองได้ใช้กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงตากแห้ง บดเป็นผง 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ให้ผู้ป่วยดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ส่วนในตำราพื้นบ้าน แนะนำให้นำกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงมาชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาขับปัสสาวะได้

4. แก้กระหาย ให้ร่างกายสดชื่น

ดอกกระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว เพราะมีวิตามินซี และกรดซิตริก จึงช่วยขับน้ำลายและแก้กระหาย โดยนำดอกกระเจี๊ยบตากแห้ง ต้มในน้ำเดือดเป็นน้ำกระเจี๊ยบหอมหวานชื่นใจ

5. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

ดอกกระเจี๊ยบมีสรรพคุณต้านการอักเสบ และมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หล่อลื่นลำไส้ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ

6. ลดไขมันในเลือด

ส่วนเมล็ดของกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด โดยนำเมล็ดกระเจี๊ยบตากแห้งมาบดให้เป็นผง จากนั้นนำมาชงกับน้ำร้อนหรือต้มน้ำดื่ม ช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับน้ำดี แก้ปัสสาวะขัด

7. ป้องกันโรคหัวใจ

สารแอนโธไซยานินที่ทำให้กลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบมีสีแดง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยทำให้เลือดไม่หนืด ช่วยลดไขมันเลวในเส้นเลือด จึงป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันหัวใจขาดเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โดยนิยมนำกระเจี๊ยบแดงไปต้มกับพุทราจีน เพื่อบำรุงหัวใจ

8. รักษาแผล

ใบของกระเจี๊ยบมีสรรพคุณในการต้านอาการอักเสบ จากตำรับยาแผนโบราณจะพบว่ามีการนำใบสดของกระเจี๊ยบแดง ล้างให้สะอาด และตำให้ละเอียด จากนั้นนำมาประคบฝีหรือต้มใบแล้วนำน้ำต้มใบมาล้างแผล ก็จะช่วยบรรเทาอาการแผลให้หายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ใบยังมีวิตามินเอ สามารถทานบำรุงสายตาได้

9. ป้องกันโลหิตจาง

กระเจี๊ยบแดงมีธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของฮีโมโกลบิน อีกทั้งความเป็นกรดของสารพฤกษเคมีในดอกกระเจี๊ยบแดงยังช่วยเพิ่มการดูดซึมและการกระจายแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลให้กระเจี๊ยบแดงช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้

10. ลดน้ำตาลในเลือด

จากการศึกษากับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับชากระเจี๊ยบแดง 3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 150 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครลดลงสูงสุดจาก 162.1 เป็น 112.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากกลไกทางชีวภาพของสารพฤกษเคมีที่ช่วยลดการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ผ่านการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลส แลแอลฟา-กลูโคซิเดส

11. ลดความดันโลหิต

จากการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง โดยให้อาสาสมัครดื่มชากระเจี๊ยบแดง 1.25 กรัม ชงกับน้ำร้อน 240 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า ความดันโลหิตของอาสาสมัครลดลง 7.2 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจบีบตัว) และ 3.1 มิลลิเมตรปรอท (ขณะหัวใจคลายตัว)

12. ปกป้องไต

การศึกษาในคลินิกที่ให้อาสาสมัครดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง 24 กรัมต่อวัน พบว่า สารพฤกษเคมีในกระเจี๊ยบแดงมีส่วนช่วยขับครีเอตินิน กรดยูริก ซิเตรต ทราเทรต แคลเซียม โพแทสเซียม และฟอสเฟต และในข้อมูลสัตว์ทดลองยังพบว่า กรดของสารพฤกษเคมีในดอกกระเจี๊ยบแดงขนาด 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันและยับยั้งการพัฒนาของก้อนนิ่วได้ ทว่าผลการยับยั้งนิ่วในคนยังต้องศึกษากันต่อไป

13. ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ

มีการศึกษาที่ยืนยันว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ โดยสารในกระเจี๊ยบแดงจะทำให้ปัสสาวะเป็นกรดจึงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้

ข้อควรระวังของกระเจี๊ยบแดง

โทษและความเป็นพิษของกระเจี๊ยบแดงก็มีเหมือนกันนะคะ โดยจากการศึกษาพบว่า สารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงในปริมาณที่มากเกินไปมีผลต่อการสร้างอสุจิและจำนวนอสุจิที่ลดลง จึงไม่ควรกินกระเจี๊ยบแดงในปริมาณมาก หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องก็ไม่ควรทานกระเจี๊ยบแดง รวมทั้งสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงติดต่อกันเป็นเวลานานเช่นกันค่ะ เพราะผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่า อาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง

แหล่งที่พบ

กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย

Abelmoschus esculentus (L.) Moench.

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • Malvaceae

ต้นกระเจี๊ยบเขียว

จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด

ใบกระเจี๊ยบเขียว

มีใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก มีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบ ก้านใบยาว

ดอกกระเจี๊ยบเขียว

มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียวประมาณ 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีก้านชูอับเรณูรวมกันลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรหุ้มเกสรตัวเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรตัวเมียเป็นแผ่นกลมมีขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก

ผลกระเจี๊ยบเขียว หรือ ฝักกระเจี๊ยบเขียว

ผลมีลักษณะเป็นฝัก โดยฝักคล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง ฝักมีสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวอยู่ 5 เหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ในฝักมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ขนาดประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน

การนำไปใช้ประโยนชน์

1. ฝักอ่อนหรือผลอ่อนใช้เป็นผักจิ้มรับประทาน โดยนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน หรือนำมาใช้ทำแกงต่าง ๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ใช้ใส่ในยำต่าง ๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็ได้

2. เมนูกระเจี๊ยบเขียว เช่น แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว แกงจืดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้ แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่ ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบผัดขิงอ่อน ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด ยำกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด สลัดกระเจี๊ยบเขียว ชากระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น

3. สำหรับชาวอียิปต์มักใช้ผลกระเจี๊ยบรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาใช้ในการปรุงสตูว์เนื้อน้ำข้น สตูว์ผัก หรือนำไปดอง ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มเป็นสตูว์กับมะเขือเทศที่เรียกว่า "กัมโบ้" หรือทางตอนใต้ของอินเดียจะนำผลกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซอสข้น ส่วนชาวฟิลิปปินส์จะใช้กินเป็นผักสดและนำมาย่างกิน และชาวญี่ปุ่นจะนำมาชุบแป้งทอดกินกับซีอิ้ว

4. ดอกอ่อนและตาดอกสามารถนำมารับประทานได้เช่นกัน

5. รากกระเจี๊ยบสามารถนำมารับประทานได้ แต่จะค่อนข้างเหนียวและไม่เป็นที่นิยม

6. แป้งจากเมล็ดแก่เมื่อนำมาบดสามารถนำมาใช้ทำเป็นขนมปังหรือทำเป็นเต้าหู้ได้

7. ใบตากแห้งนำมาป่นเป็นผงใช้โรยอาหารและช่วยชูรสชาติอาหารได้

8. ฝักที่นำมาตากแห้งแล้ว สามารถนำมาใช้ทำเป็นชาไว้ชงดื่มได้

9. เมล็ดกระเจี๊ยบนำมาคั่วแล้วบดสามารถนำมาใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ หรือนำใช้ในการแต่งกลิ่นกาแฟ

10. ใบกระเจี๊ยบนำมาใช้เป็นอาหารวัวหรือใช้เลี้ยงวัวได้

11. กากเมล็ดมีโปรตีนมาก เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์

12. ในประเทศอินเดียมีการใช้เมล็ดกระเจี๊ยบเพื่อไล่ผีเสื้อเจาะผ้า

13. ในประเทศอินเดีย โรงงานผลิตน้ำตาลบางแห่งมีการใช้เมือกจากต้นนำมาใช้ในกระบวนการทำให้น้ำอ้อยสะอาด

14. เปลือกต้นกระเจี๊ยบ แม้จะไม่เหนียวนักแต่ก็สามารถนำมาใช้ทอกระสอบ ทำเชือก เชือกตกปลา ตาข่ายดักสัตว์ ใช้ถักทอเป็นผ้าได้ หรือทำเป็นกระดาษ ลังกระดาษก็ได้

15. เมือกจากผลกระเจี๊ยบสามารถนำมาใช้เคลือบกระดาษให้มันได้

16. กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากต่างประเทศมีการสั่งซื้อกระเจี๊ยบของไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัทที่ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวอย่างครบวงจรมาร่วมมือกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ช่วยกันปลูกเพื่อส่งออก

17. สำหรับในต่างประเทศมีการนำกระเจี๊ยบเขียวไปผลิตแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูป เช่น กระเจี๊ยบเขียวอบแห้ง หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนมหวาน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องหอม อุตสาหกรรมยา เช่น ทำเป็นยาผงและแคปซูล

แหล่งที่พบ

กระถิน

กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน (สมุทรสงคราม), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ), กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก (ภาคกลาง), ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน (ภาคใต้), กระถินยักษ์

Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

ต้นกระถิน

ต้นกระถินเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงพบได้ทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนาดความสูงประมาณ 3-10 เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม เปลือกต้นมีสีเทา และมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี

ใบกระถิน

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบมีขน ใบแยกแขนงประมาณ 3-19 คู่ เรียงตรงข้ามกัน มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 5-20 คู่ เรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.6-2.1 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน แต่ละใบมีเส้นแขนงอยู่ประมาณข้างละ 5-6 เส้น ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร

ดอกกระถิน

ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่งประมาณ 1-3 ช่อ กลีบเลี้ยงโคนติดกันลักษณะเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก มีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ฝักกระถิน

ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ ฝักเมื่อแก่จะแตกตามยาว ฝักยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในฝักมีเมล็ดเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15-30 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนมกราคม

เมล็ดกระถิน

เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่แบนกว้าง มีสีน้ำตาลและเป็นมัน

การนำไปใช้ประโยนชน์

1. ยอดอ่อนกระถิน ฝักอ่อน และเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยยอดใบจะใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ส้มตำ หรือยำหอยนางรม ส่วนเมล็ดอ่อนชาวอีสานใช้ผสมในส้มตำมะละกอหรือรับประทานกับส้มตำ ส่วนชาวใต้ใช้เมล็ดอ่อนและใบอ่อนรับประทานร่วมกับหอยนางรม

2. ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ ฯลฯ

3. ใบกระถินอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือโพแทสเซียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้

4. เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด ฯลฯ

5. ลำต้นหรือเนื้อไม้กระถินสามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร ทำฟืน เผาทำถ่าน และได้น้ำส้มควันไม้

6. เปลือกต้นกระถินให้เส้นใยที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดาษได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีนัก

7. เปลือกต้นกระถินสามารถนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้ โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัม จะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล

8. สายพันธุ์กระถินที่ทำการปรับใหม่จะมีขนาดลำต้นสูงกว่าสายพันธุ์เดิม หรือที่เรียกว่า "กระถินยักษ์" ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลม และช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ เหมาะในพื้นที่ที่มีการดูแลรักษาต่ำ และต้นกระถินยังมีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว

9. ตามคติความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวงกล่าวว่า กระถินเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำมาปลูกร่วมกับต้นสารภี มีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไรต่าง ๆ ได้

แหล่งที่พบ