มะกอกเลื่อม

มะกอกเกลื้อน (ราชบุรี) มะกอกเลือด (ใต้) มะเกิ้ม (เหนือ) มะเลื่อม (จันทรบุรี, พิษณุโลก) มักเหลี่ยม (จันทรบุรี) โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี)

Canarium subulatum Guillaumin

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • BURSERACEAE

ต้น: ไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกสีน้ำตาล มียางสีขาว ใบ: เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยจำนวน 2-5 คู่ รูปหอก ปลายแหลม โคนเบี้ยว มีหูใบ หลังใบมีขนเล็กน้อย ดอก: ออกดอกเป็นช่อระหว่างซอกใบ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและ ดอกแยกเพศ มักจะออกดอกพร้อมกับใบอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือกรวยปากกว้าง ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกมีกลีบรูปขอบขนาน 3 กลีบ ยาวประมาณ 2 – 3 เท่าของกลีบรองดอก ก้าน ดอกและก้านช่อดอกเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี 6 อัน รังไข่รูปรี มี 3 ช่อง ผล: ผลรูปไข่ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร มักเป็นสันสามเหลี่ยมกลายๆ ขั้วมีกลีบรองดอกติดอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

การนำไปใช้ประโยนชน์

ผลมีรสฝาดเปรี้ยว แก้ไอ ขับเสมหะ แก่นรสเฝื่อนแก้โลหิตระดูพิการ ยางรสฝาด ทาแก้ผดผื่นคัน เป็นเครื่องหอม

แหล่งที่พบ

ลานสวนดุสิตโพล โซน B

ไม้แดง

แดง (กลาง, สงขลา)

Xylia xylocarpa Taub. var. kerrii (Craib ex Hutch.) I.C. Nielsen

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE

ต้น: ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันสีแดง ใบ: ประกอบรูปขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีก้านแขนงออกจากปลายก้านใหญ่สองแขนง ระหว่างง่ามแขนงมีตุ่ม สีชมพูหรือสีน้ำตาลแดง แผ่นใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7-20 เซนติเมตร ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ จำนวน 4-5 คู่ ปลายใบแหลมมน ฐานใบมักจะเบี้ยว ดอก: ดอกเล็กสีเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกรวมกันเป็นกระจุกรูปทรงกลมบนก้านช่อ คล้ายดอกกระถิน ผล: เป็นฝัก รูปไตแบนแข็ง ยาว 7-10 เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาลอมเทา แตกม้วนบิดงอ เมล็ดแบน มีจำนวนหลายเมล็ด

การนำไปใช้ประโยนชน์

เนื้อไม้สีแดงเรื่อๆหรือน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียดแข็งเหนียว หนัก มีความทนทานสูง เลื่อยและตกแต่งได้ยาก เหมาะสำหรับการก่อสร้างที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรง เช่น เสาบ้าน คาน เสาสะพาน คันไถ เกวียน ต่อเรือ หมอนรองรางรถไฟ เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ ประโยชน์ทางยา แก่น ใช้ผสมยาแก้ทางโลหิตและโรคกษัย เปลือก มีรสฝาด ใช้สมานธาตุ ดอก ผสมยาแก้ไข บำรุงหัวใจ เมล็ด นำมารับประทานได้

แหล่งที่พบ

ด้านข้างอาคารแปดเหลี่ยม โซน B

ยางพารา

ยาง (กลาง, ตะวันออกเฉียงเหนือ)

Hevea brasiliensis (Willd. Ex A. Juss.) Muell. Arg.

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • EUPHORBIACEAE

ต้น: ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 25 เมตร ใบ: เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบย่อย 3 ใบ รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-15 เซนติเมตร ยาว 4-50 เซนติเมตร ดอก: แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้สีเหลือง กลีบรวมรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณู 10 อัน ดอกเพศเมียมีฐานดอกสีเขียว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ผล: ผลแห้งมี 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร เมล็ดรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3.5 เซนติเมตร มีจำนวน 3 เมล็ด

การนำไปใช้ประโยนชน์

เปลือกให้น้ำยาง ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์และอื่นๆ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน ใบต้มกับด่างให้เหลือแต่เส้นใบใช้ทำดอกไม้ประดับและของชำร่วย

แหล่งที่พบ

ทางขึ้นสระว่ายน้ำบริเวณข้างสระว่ายน้ำเด็ก โซน C