ส้มป่อย

ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ พิฉี่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย เมี่ยงโกร๊ะ ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง)

Acacia concinna (Willd.) DC.

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • Fabaceae

ต้นส้มป่อย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ขึ้นทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป

ใบส้มป่อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบย่อยมีประมาณ 5-10 คู่ ส่วนช่อย่อยมีประมาณ 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ไม่มีก้านใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบมนหรือตัด ส่วนขอบใบหนาเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-11.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3.6-5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนของก้านใบ แกนกลางยาวประมาณ 6.6-8.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น เกลี้ยงและมีขนนุ่มหนาแน่น

ดอกส้มป่อย ออกดอกเป็นช่อกระจุกรูปทรงกลม โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรืออกตามซอกใบข้างลำต้นประมาณ 1-3 ช่อดอกต่อข้อ มีขนาดประมาณ 0.7-1.3 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มหนาแน่น มีใบประดับดอก 1 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบ ความยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอดสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นสีแดง หรืออาจมีสีขาวปนบ้างเล็กน้อย ส่วนกลีบดอก หลอดกลีบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนบ้างเล็กน้อยที่ปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 200-250 อัน โดยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 10-12 ออวุล ก้านรังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร เป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

ผลส้มป่อย ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนยาว ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวฝักขรุขระหรือย่นมากเมื่อแห้ง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9.3 เซนติเมตร ฝักอ่อนเปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่แล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ก้านฝักยาวประมาณ 2.8-3 เซนติเมตร ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-12 เมล็ด เมล็ดส้มป่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี สีดำผิวมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฝักมีสารในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20% เมื่อนำมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง

การนำไปใช้ประโยนชน์

ตำรายาไทย ฝัก รสเปรี้ยว มีสารซาโปนินสูง ตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทน ฝักแก่ใช้ต้มเอาน้ำสระผมช่วยขจัดรังแค บำรุงผม เป็นยาปลูกผมและกำจัดรังแค ต้มอาบน้ำหลังคลอด ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง ฝักปิ้งให้เหลือง ชงน้ำจิบเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ต้มน้ำดื่มแก้ไข้มาลาเรีย ทำให้อาเจียน ต้มหรือบดกินเป็นยาถ่าย

เปลือกฝัก รสขมเปรี้ยว เผ็ดปร่า ช่วยเจริญอาหาร กัดเสมหะ แก้ไอ แก้ซางเด็ก

ต้น รสเปรี้ยวฝาด เป็นยาระบาย แก้โรคตาแดง แก้น้ำตาพิการ

ใบ รสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ต้มดื่ม ขับเสมหะ ขับระดูขาว แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต แก้บิด ชำระเมือกมันในลำไส้ แก้โรคตา ตำประคบให้เส้นเอ็นหย่อน

ยอดอ่อน นำมาต้มน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งดื่มเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ หรือนำมาตำรวมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น นำไปพอกแก้ฝี

ดอก รสเปรี้ยว ฝาด มัน แก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์

ใบและฝัก ต้มอาบ ทำความสะอาด บำรุงผิว

ราก รสขม แก้ไข้

ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยว รับประทานเป็นผักสด นำมาปรุงอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้

แหล่งที่พบ

ผักบั้ง (หางปลาช่อน)

ผักบั้ง (ลำปาง), ผักแดง (เลย), หางปลาช่อน (เพชรบุรี, ภาคกลาง) เอี่ยโต่ยเช่า เฮียะแอ่อั้ง (จีนแต้จิ๋ว), หยางถีฉ่าว หยางถีเฉ่า เยวียะเสี้ยหง อีเตี่ยนหง (จีนกลาง)

Emilia sonchifolia (Linn.) DC.

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • ASTERACEAE (COMPOSITAE)

ไม้ล้มลุก อายุหนึ่งปี ลำต้นสูง 25-45 ซม. ขนค่อนข้างเกลี้ยง. ใบ ไมมีก้านใบ กว้าง 1-8 ซม. ยาว 4-16 ซม. ใบล่าง ๆ บางทีจะออกโดยรอบใกล้ผิวดิน ขอบใบที่ส่วนล่างจักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบ แบ่งใบส่วนบนออกเป็นรูปค่อนข้างกลม รูปไต รูปไข่ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือ รูปไข่กลับ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็กน้อยและไม่สม่ำเสมอ บางทีที่โคนใบจะสอบเข้าสู่เส้นกลางใบคล้ายเป็นก้านใบ ใบกลาง ๆ จะเล็กกว่า รูปหอกแกมรูปไข่ ขอบเรียบ หรือ จักเป็นซี่ฟันไม่เท่ากัน; ส่วนใบบน ๆ จะเล็กแคบ โคนเป็นรูปหัวลูกศร ใบกลาง ๆ และใบบน ๆ จะเรียงตัวอยู่ห่าง ๆ กัน ใบทั้งหมดปลายใบจะแหลม เนื้อใบเกลี้ยง หรือ ค่อนข้างเกลี้ยง. ดอก เป็นกระจุก กว้าง 4-5 มม. ยาว 8-10 มม. ออกเป็นช่อบาง ๆ ที่ปลายยอด หายากที่ออกเดี่ยว ๆ ริ้วประดับมี 1 วง รูปขอบขนานแคบ ปลายแหลม ยาว 9-12 มม. กลีบดอก ชมพู ยาว 9 มม. ผล แห้ง ยาวประมาณ 3 มม. มี 5 สัน มีระยางค์สีขาว ยาว 8 มม.

การนำไปใช้ประโยนชน์

ทั้งต้น ต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ ห้ามเลือด ฝากสมาน หืด ไอ ทั้งกินทั้งอาบ แก้เด็กเป็นฝีตานซาง เม็ดผื่นคันตามตัว แก้ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง บิด อุจจาระเป็นเลือด ลดอาการบวมน้ำ ใช้พอกแผลไหม้ แผลน้ำร้อนลวก บาดแผลต่าง ๆ บาดแผลเรื้อรัง ใบ คั้นใช้หยอดตา หยอดหู แก้ตาเจ็บ หูเจ็บ ราก ผสมกับน้ำตาลเมาดื่มบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดสะเอว แก้ท้องเสีย ใบและดอก ใช้ห้ามเลือด

แหล่งที่พบ

ผักปลัง (ผักปั๋ง)

ผักปั๋ง ผักปั่ง (ภาคเหนือ), ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาคกลาง), ผักปรัง ผักปรังใหญ่ (ไทย), เดี้ยจุ่น (เมี่ยน), มั้งฉ่าง (ม้ง), เหลาะขุ้ย โปแดงฉ้าย (แต้จิ๋ว), ลั่วขุย (จีนกลาง)

Basella alba

ชื่อวงศ์พรรณไม้

  • Basellaceae

1. ต้นผักปลัง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม ไม่มีขน แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความยาวประมาณ 2-6 เมตร หากลำต้นเป็นสีเขียวจะเรียกว่า "ผักปลังขาว" ส่วนชนิดที่ลำต้นเป็นสีม่วงแดงจะเรียกว่า "ผักปลังแดง" ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำเถาแก่ เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดรำไร สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าทุ่ง ที่รกร้าง หรือตามที่ชุ่มชื้นทั่วไป

2. ใบผักปลัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ใบมีลักษณะอวบน้ำและเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดได้ง่าย หลังใบและท้องใบเกลี้ยงไม่มีขน เมื่อนำมาขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ก้านใบอวบน้ำยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร เป็นสีเขียวและสีแดง

3. ดอกผักปลัง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตรงซอกใบ มีขนาดยาวประมาณ 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โดยผักปลังขาวดอกจะเป็นสีเขียว ส่วนผักปลังแดงดอกจะเป็นสีม่วงแดง มีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับขนาดเล็ก 2 ใบติดอยู่ที่โคนของกลีบรวม ลักษณะของกลีบรวมเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 0.1-3 มิลลิเมตร โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ที่ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน ติดอยู่ที่ฐานของกลีบดอก มีอับเรณูเป็นรูปกลม ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างรี ยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านชูเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 0.1-0.5 มิลลิเมตร

4. ผลผักปลัง ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน และไม่มีก้านผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เนื้อผลนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ และมีเมล็ด 1 เมล็ด

การนำไปใช้ประโยนชน์

ตำรายาไทย ทั้งต้น รสเย็น ต้มดื่มแก้ขัดเบา แก้ท้องผูก ลดไข้ โขลกพอกแก้กลาก ผื่นคัน แก้พิษฝีดาษ แก้อักเสบ

ใบ มีรสหวานเอียน ระบายท้อง ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้อักเสบ แก้โรคกระเพาะอักเสบ แก้กลาก แก้ผื่นคัน ฝี

ดอก รสหวานเอียน ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ

ต้นรสหวานเอียน แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้พิษฝีดาษ แก้พิษฝี แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ

ราก รสหวานเอียน แก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ใช้ทาถูนวดให้ร้อนเพื่อให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ทาให้มากขึ้น น้ำคั้นรากเป็นยาช่วยหล่อลื่นภายใน และขับปัสสาวะ

ใบ ยอดอ่อน ช่อดอก นำมาต้มลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนึ่งกับปลา ยอดอ่อน ใบ นำมาแกงจืดกับหมูสับ

ช่อดอก ต้น และใบ แกงส้ม เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง อุดมด้วยวิตามิน A, Bและ C เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบายอ่อนๆ

ผล ใช้แต่งสีอาหาร ให้สีม่วงแดง

ประเทศอินเดีย ใช้ทั้งต้น แก้ลมพิษ ผื่นคัน แผลไฟไหม้ ต้นและใบ ใช้แก้มะเร็งเม็ดสีผิว มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งช่องปาก

ประเทศบังคลาเทศ ทั้งต้นใช้ตำพอกหน้า ป้องกันสิว และกระ

แหล่งที่พบ